ยาร้อนยาเย็นคืออะไร??
“ยาร้อน” เป็นภาษาชาวบ้าน พ่นยาไปแล้วทำให้พืชใบไหม้ ดอกร่วง กลีบดอกไหม้ ชะงักการเจริญเติบโต ถ้าเป็นภาษาวิชาการเรียก ความเป็นพิษต่อพืช (Phytotoxicity) ส่วนใหญ่มักเป็นยาที่มีสูตร EC เช่น คลอไพริฟอส 40% EC, ไซเปอร์เมทริน 35%EC, อะบาเมกติน 1.8%EC ฯลฯ
“ยาเย็น”
ยาเย็นมีคุณสมบัติตรงข้ามกับยาร้อน คือจะไม่ส่งผลกระทบในทางลบกับพืช โดยส่วนใหญ่จะถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดความเป็นพิษที่เกิดจากการใช้ตัวทำละลาย (solvent) ปริมาณมากในสูตร EC เช่น โพรคลอราซ 45%EW, อีมาเมกติน เบนโซเอท 2.0%ME เป็นต้น และมีอีกหลายๆสูตรที่ไม่ใช่ สูตร EC เช่น เอกซะโคลนาโซล 5%SC, โอเมทโทเอท 50%SL, ฟีโปรนิล 5%SC, บิวทาคลอร์ 60%EW เป็นต้น
ความเป็นพิษต่อพืช (Phytotoxicity) มีความหมายว่าผลของผลิตภัณฑ์ เช่น สารกำจัดศัตรูพืช ที่เป็นเหตุให้เกิดความเป็นพิษต่อพืช ทั้งที่แสดงอาการชั่วคราว หรือเป็นระยะเวลานาน
การประเมินผลกระทบความเป็นพิษต่อพืช ได้ถูกบังคับในขั้นตอนการทดสอบประสิทธิภาพสารกำจัดศัตรูพืช ไม่ว่าจะเป็นสารกำจัดแมลง ไรศัตรูพืช สารกำจัดเชื้อราสาเหตุโรคพืช และสารกำจัดวัชพืช โดยในการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรนั้น นอกจากจะวางแผนการทดลองประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัทว่ามีประสิทธิภาพอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่เคยแนะนำให้ใช้อยู่ก่อนหน้านั้น เช่น การทดสอบประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดหนอนห่อใบข้าว จะต้องมีสารเปรียบเทียบที่แนะนำสำหรับป้องกันกำจัดหนอนห่อใบข้าว ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ (Mode of action) เช่นเดียวกับ หรือใกล้เคียงกับสารที่จะนำมาขึ้นทะเบียน และมีกรรมวิธีที่ไม่ใช้สารเปรียบเทียบด้วย นอกจากนี้ยังต้องมีการบันทึกข้อมูลความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ต่อพืชด้วย อาการของพืชที่แสดงออกที่เกิดจากความเป็นพิษของสารต่อพืช เช่น
การพัฒนาการของพืช เช่น การใช้สารคลุกเมล็ด รองก้นหลุม หรือการพ่นสารกำจัดวัชพืช อาจมีการบันทึกการเจริญเติบโตทั้งต้น ตั้งแต่หลังงอก จนถึงเก็บเกี่ยวว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งระยะเวลาในการงอก อัตราความงอก ระยะเวลาออกดอกช้าหรือเร็ว การติดผล การสุกแก่ หรือการแสดงออกของใบ ดอก ผล การวัดผลอาจใช้วิธีวัดอัตราการงอก จำนวนต้นที่แสดงอาการผิดปกติ
สีของพืช ทุกส่วน ทั้งใบ ดอก ผล ทั้งต้น เช่น ผู้เขียนเคยทดสอบสารเคมีจุ่มรากมะเขือเทศก่อนย้ายกล้า ปรากฏว่าถ้าแช่สารเคมีที่เข้มข้นสูง หรือนานเกินไป ต้นมะเขือเทศจะเปลี่ยนเป็นสีขาวทั้งต้น บางต้นตาย บางต้น สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติ
ใบไหม้ ใบร่วง ดอกร่วง ยอดบิดเบี้ยว ผลร่วง ใบ ดอก ผลบิดเบี้ยวเสียรูปทรง
ความเป็นพิษต่อพืชของสารฆ่าแมลง มีปัจจัยที่เกี่ยวของอะไรบ้าง
1.สูตรของสาร สารที่มีตัวทำละลายเป็นอิมัลซิไฟเออร์ คือสารที่เติมเข้าไปเพื่อให้สารออกฤทธิ์ที่ไม่ละลายน้ำ ให้สามารถละลายเข้ากันกับน้ำที่เรียกว่าสูตร EC (รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ที่ผู้เขียนเคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้) เนื่องจากสูตรนี้มีตัวทำละลายที่เป็นสารอินทรีย์กลุ่มไฮโดรคาร์บอนที่มีโครงสร้างเป็นน้ำมันเบนซีน (วงแหวนเบนซีน) เป็นส่วนประกอบ จึงมีโอกาสเกิดความเป็นพิษมากกว่าสูตร อื่น นอกจากนี้ยังมีสูตร ผงละลายน้ำ (WP) เนื่องจากหลังจากพ่นไปบนใบพืชจะไหลมารวมกันที่ปลายใบ ทำให้ปลายใบได้รับสารเข้มข้นมากกว่าจุดอื่น จึงมักเกิดอาการเกิดพิษได้ นอกจากนี้แล้วสูตรอื่น ๆ ไม่ได้หมายความว่าไม่เกิดความเป็นพิษ อาจเกิดได้ถ้าใช้ในอัตราสูงกว่าคำแนะนำ อีกประเด็นหนึ่งสารเคมีสูตรเดียวกันแต่บางบริษัทพ่นแล้วไม่เกิดพิษต่อพืช แต่อีกบริษัทอาจเป็นพิษก็ได้ เนื่องจากตัวทำลาะลายมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน
2.เกิดจากตัวสารเคมีเอง ได้แก่ สารที่มีสูตรโครงสร้างมาจากกลุ่มเบนซอยยูเรีย เช่น ไดฟลูเบนซูรอน คลอร์ฟลูอาซูรอน โนวาลูรอน ลูเฟนนูรอน ฯลฯ กลุ่มนี้ถ้าใช้ในอัตราสูงอาจเป็นพิษในช่วงพืชออกดอก หรือติดผลโดยเฉพาะผลไม้ที่มีไข หรือมีนวล (คะน้า องุ่น น้อยหน่า)
3.อัตราการพ่น การพ่นสารในอัตราสูงคือการพ่นละอองสารที่โตเกินไป ทำให้พืชได้รับสารเคมีเกินไปโดยไม่ได้ตั้งใจ บางครั้งอาจเรีกว่า พ่นมากจนเป็นการรดน้ำให้พืช เช่น การพ่นคะน้า 1 ไร่ ถ้าพ่นแบบใช้เครื่องยนต์พ่นสารแบบแรงดันน้ำสูง จะใช้อัตราการพ่นประมาณ 100 -120 ลิตรต่อไร่ แต่เกษตรกรพ่นถึง 200 ลิตรต่อไร่ ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดความเป็นพิษต่อพืช
4. ความถี่ในการพ่น พ่นยาถี่เกินไป สารเคมีจัดเป็นสิ่งแปลกปลอมของพืช เมื่อพืชได้รับเข้าไป จะมีการขับออกมาทางปากใบ (พร้อมการคายน้ำ) จะนานกี่วันขึ้นอยู่กับค่าครึ่งชีวิตของสารนั้น รวมถึงสภาพแวดล้อม(แสงแดด น้ำฝน หรือการให้น้ำ) ถ้าพืชยังขับสารเก่าออกมาไม่หมดแต่เราพ่นซ้ำเติมสารเข้าไปเพิ่ม ก็เกิดพิษได้แสงแดด ปริมาณน้ำฝน หรือการให้น้ำ บางครั้งพืชยังขับถ่ายไม่หมด สารเคมีก็ถูกเติมลงไป ทำให้เกิดพิษต่อพืชได้
5.ช่วงอายุของพืช ช่วงวิกฤติของพืชคือ ช่วงออกดอก ติดผลอ่อน (ข้าวช่วงตั้งท้องออกรวง) ช่วงแล้งพืชขาดน้ำ การพ่นยาบางตัวช่วงนี้อาจเกิดการเป็นพิษได้
6. การผสมสารหลายชนิดเกินไป การผสมสารหลายชนิดอาจทำให้เกิดพิษกับพืชได้ เช่น การผสมสารกำมะถัน(ซัลเฟอร์ : S เป็นธาตุที่มีคุณสมบัติร้อน ใช้ทำดินปืนไง) หรือ สารเคมีกลุ่มออแกโนฟอสเฟตที่มีองค์ประกอบของซัลเฟอร์ เช่น ไดเมโทเอต โอเมโธเอต เฟนโธเอต โปรฟีโนฟอส คลอร์ไพริฟอส ไตรอะโซฟอส เป็นต้นสารกลุ่มออแกโนฟอสเฟต กับพวก ไวท์ออย ปิโตรเลียมออยด์ ทำให้เกิดพิษได้ หรือการผสมสารสูตรEC ถ้าผสมกันหลายตัว ก็อาจทำให้เกิดพิษได้
สภาพแวดล้อมขณะพ่น เช่น พ่นตอนแดดจัดอากาศร้อน มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดพิษกับพืชได้(ตอนแดดจัดอากาศร้อนพืชจะคายน้ำเยอะเพื่อรักษาอุณหภูมิในใบ ไม่ให้ร้อนเกิน(เหมือนคนเหงื่อออกเพื่อระบายความร้อน) ให้ให้พืชใบเหี่ยว พอได้รับสารเคมีเข้าไป น้ำในใบพืชน้อยทำให้ยาเข้มข้นกว่าช่วงที่พืชไม่เหี่ยว จึงเกิดความเป็นพิษได้
I like the helpful info you supply in your articles.
I’ll bookmark your blog and check once more here regularly.
I am rather certain I will be told lots of new stuff right right here!
Good luck for the next!
thank you for your appreciate ka.